Happy Workplace Talk #8 “เส้นทางชนะใจ งดเหล้าเข้าพรรษา” เปลี่ยนเหล้าเพื่อเข้าสังคม เป็นสังคมแห่งการเลิกเหล้า

01/08/2022 คลังความรู้, บทความ 2,341
Share:

Happy Workplace Talk #8 “เส้นทางชนะใจ งดเหล้าเข้าพรรษา” เปลี่ยนเหล้าเพื่อเข้าสังคม เป็นสังคมแห่งการเลิกเหล้า

 

“กินเหล้าเพราะต้องเข้าสังคม”

เป็นประโยคที่เราได้ยินอยู่เป็นประจำ เวลาเหล่านักดื่มให้เหตุผลว่าทำไมต้องดื่มเหล้า 

แต่ความเป็นจริงแล้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจไม่ได้เป็นตัวช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนรอบข้างอย่างที่หลายคนคิดกันเสมอไป ในทางกลับกันมีตัวอย่างมากมายว่าการดื่มที่ไม่รู้จักความพอดีนั้น เป็นตัวบั่นทอนและทำลายความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัวจนเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมาในที่สุด

ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญ และมีโครงการรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง 

หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ในวงกว้างคือ การรณรงค์ให้งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นที่มาของเวทีเสวนาออนไลน์ Happy Workplace Talk #8 "เส้นทางชนะใจ งดเหล้าเข้าพรรษา" ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 

โดยได้วิทยากรที่มีประสบการณ์ในการรณรงค์ในเรื่องนี้ อย่าง คุณธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า, คุณประไพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายบริหารและบุคคล บมจ.อินโดรามาโพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์, ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ และดำเนินรายการโดย คุณวันชัย สุวรรณมณี บมจ.สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงวิธีการในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างได้ผล ซึ่งจะช่วยพลิกมุมมองการเชื่อมโยงเหล้ากับการเข้าสังคม และตอบคำถามว่าทำไมถึงต้องงดเหล้าเข้าพรรษา

“เราทำโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาตั้งแต่ ปี 2546 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 20 โครงการนี้มีต้นทุนที่ต่ำ แต่ได้ผลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งผู้คนจำนวนมากที่มีสุขภาพดีขึ้น และช่วยให้คนไทยประหยัดเงินได้กว่า 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น”

คุณธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เริ่มต้นเสวนาด้วยการอธิบายภาพรวมถึงผลลัพธ์ของโครงการนี้ 

“ก่อนเริ่มโครงการเราต้องรู้เขารู้เราก่อน เลยมีได้ศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง ทั้งการแบ่งประเภทว่าแบบไหนถึงเรียกว่า ดื่มหนัก ดื่มอันตราย และติดเหล้า แล้วการติดเหล้าส่งกับสมองและการกระตุ้นฮอร์โมนของคนอย่างไร”

ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เพิ่มเติมถึงวิธีการตรวจสอบแบบง่าย ๆ ว่าอย่างไรถึงเรียกว่าติดแอลกอฮอล์ ด้วยการตอบแบบสอบถามสั้น ๆ ซึ่งพอทราบแล้วว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแบบไหน ขั้นตอนต่อไปคือการลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้

“การงดเหล้าต้องทำเป็นขั้นตอน เพราะไม่ใช่การหักดิบจะเหมาะกับทุกคน บางคนที่เสพติดหนักต้องใช้การลดปริมาณลงก่อน ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลกระทบจากการลงแดงได้ ซึ่งช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มที่ดี ระยะเวลา 3 เดือนถ้าเขางดเหล้าได้ ก็จะมีแนวโน้มที่ดีว่าจะเลิกดื่มได้ในระยะยาว โดยหลังจากออกพรรษาแล้วการเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ยั่วยุให้กลับมาดื่มเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นสังคมรอบข้างจะมีผลที่สุด”

สังคมรอบข้างที่มีผล ส่วนมากจะหมายถึงสถานที่ทำงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกว่า 1 ใน 3 ของวันไปกับที่นี่ และมีเพื่อนร่วมงานเป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีความใกล้ชิด 

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนสังคมตรงนี้ให้ห่างไกลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็จะส่งผลให้สามารถเลิกดื่มได้ในที่สุด

 

คุณประไพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายบริหารและบุคคล บมจ.อินโดรามาโพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ ผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันให้สถานประกอบการเป็นสถานที่สร้างเสริมสุขภาพ ได้ให้ข้อมูลว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของปัญหาของพนักงาน ทั้งในเรื่องการเงิน สุขภาพ หรือความสัมพันธ์ ที่ผ่านมากเลยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้พนักงานมีความเข้าใจ ลด ละ เลิก และทำกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาอย่างต่อเนื่อง

“เราให้ความสำคัญกับช่วงเข้าพรรษาเป็นพิเศษ เพราะถ้างดดื่มในช่วงนี้ได้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเลิกดื่มอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาแล้ว คุณประไพยังพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการไม่อนุญาตให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเข้ามาในบริษัท และการชูพนักงานที่เลิกดื่มเพื่อเป็นต้นแบบให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีในด้านต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เพื่อนพนักงานคนอื่นเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งให้พนักงานต้นแบบเหล่านั้นชักชวนเพื่อนพนักงานให้ร่วมเลิกดื่มไปด้วยกัน 

“ความยากอยู่ที่ตอนแรกที่เราเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะถูกต่อต้านว่าไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการดื่มกินนอกเวลางานของพวกเขา แต่เราใช้ความต่อเนื่องในการทำกิจกรรมปลอดเหล้า ทั้งการออกกำลังกาย เล่นดนตรี ฝึกอาชีพ ที่ช่วยในการพัฒนาชีวิตของพนักงาน จนปลูกฝังกลายเป็นวัฒนธรรมที่ห่างไกลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่สุด”

การเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดคือจากเดิมที่หลังเลิกงานจะเห็นพนักงานจำนวนมากมาตั้งวงดื่มเหล้าตามร้านค้ารอบบริษัท หรือบริเวณที่พักของพนักงาน ตอนนี้แทบไม่มีพนักงานที่ดื่มเหล้าหลังเลิกงานให้เห็นอีกเลย 

 

 

คุณประไพบอกว่าสิ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ผลคือความต่อเนื่อง ซึ่งความท้าทายของการผลักดันเรื่องนี้มาต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี คือการสนับสนุนของผู้บริหารที่ต้องมีความเข้าใจแล้วเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ได้เสริมว่าการมีส่วนร่วมของผู้บริหารมีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดสถานประกอบการที่สร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่งผู้บริหารต้องเข้าใจปัญหาของพนักงาน แล้วเห็นความเชื่อมโยงว่ามีผลกับประสิทธิภาพในการทำงานแค่ไหน และจะช่วยส่งผลกับเป้าหมายที่บริษัทได้ตั้งเอาไว้อย่างไร

 

 

แม้จะการดื่มของพนักงานจะส่งผลโดยตรงกับผลประกอบการและเป้าหมายของบริษัท แต่จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาตลอดหลายปี ของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 แห่ง มีเพียง 300 กว่าแห่งเท่านั้นที่ทำอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี 

“จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยง มีคนเลิกสูบบุหรี่ได้ 3,880 ราย เลิกดื่ม 1,889 ราย สะท้อนว่าการเลิกดื่มทำได้ยากกว่าบุหรี่ เพราะหลายคนยังมีความคิดว่าการดื่มเหล้าเป็นการเข้าสังคม เลยเป็นประเด็นที่ไม่ง่ายในการเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจเขาด้วยว่าปัจจัยที่ติดเหล้ามาจากหลายเรื่อง เราต้องเข้าไปหาสาเหตุแล้วแก้ไขให้ตรงจุด หลายคนที่เป็นนักดื่มมีจุดร่วมคือมี self esteem เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ” 

การขับเคลื่อนให้เป็นสถานประกอบการปลอดเหล้าเลยจำเป็นต้องเริ่มจาก Happy 8 Workplace การสร้างองค์กรแห่งความสุข 8 ประการ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตกับการทำงานอย่างมีความสุขอย่างสมดุล ทั้งในเรื่องสุขภาพ จิตใจ ไปจนถึงการใช้เงิน 

นอกจากนี้ยังต้องให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดนักดื่มหน้าเดิม และไม่เพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ขึ้น ด้วยการสร้างการตระหนักรู้ให้กับพนักงาน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทที่ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ 

“เราให้ความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสภาพแวดล้อมต้องเอื้อด้วย ทั้งร้านค้ารอบบริษัท ที่พัก หรือชุมชน ต้องทำให้สภาพแวดล้อมนอกเวลางานไม่เอื้อต่อการดื่มเหล้าด้วย เป็นเรื่องการดูแลนอกและในเวลางานอย่างใกล้ชิด” 

ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ได้ถอดบทเรียนที่ช่วยในการขับเคลื่อนเรื่องสถานประกอบการปลอดเหล้าให้ประสบความสำเร็จว่าต้อง

1. ทำอย่างต่อเนื่อง ดำเนินโครงการต่อเนื่องทุกปี มุ่งเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

2. ทำให้เป็นองค์รวม ใช้เครือข่ายและเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน

3. ทำอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน กำหนดนโยบาย เก็บข้อมูล และการประเมินผลอย่างเป็นระบบ 

 4. ทำอย่างมีส่วนร่วม ผู้บริหารต้องเข้ามีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

 

ช่วงท้ายผู้ดำเนินรายการ คุณวันชัย สุวรรณมณี บมจ.สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนโดยพูดคุยประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ของบริษัทต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 โดยได้ภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือเลยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางบริษัท ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากพนักงาน และทางผู้บริหาร 

“เราใช้วิธีบูรณาการ ทั้งการขอสนับสนุนจากผู้บริหารในเรื่องนโยบาย มีการวางแผนที่ชัดเจนในแต่ละปี มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อให้ทุกอย่างที่ทำต้องได้มากกว่าแค่การเลิกเหล้า แต่ยังได้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะอีกด้วย ซึ่งเรามีการเก็บตัวเลขข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างเงินออมที่เพิ่มขึ้นเพราะการงดเหล้า พอได้ผลดีกับตัวพนักงาน พวกเขาก็จะเห็นด้วยกับเราแล้วทำให้ผู้บริหารเห็นภาพมากขึ้นในที่สุด”

จากจุดเริ่มต้นของการงดเหล้าเข้าพรรษาสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุขที่เสริมสร้างสุขภาวะให้กับทุกคน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ทั้งพนักงาน ครอบครัว ร้านค้ารอบสถานประกอบการ โดยเฉพาะผู้บริหารที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนให้การดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม เป็นสังคมที่มีส่วนช่วยให้เลิกดื่มเหล้า เพราะสุดท้ายแล้วไม่เพียงแต่ตัวพนักงานที่จะได้ประโยชน์แต่เป็นครอบครัวและคนรอบข้างที่ได้ประโยชน์ไปด้วยกัน