“เปิดบ้าน เปิดวัด เปิดใจ” คือสโลแกนของโครงการที่ชื่อว่า วัดบันดาลใจ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นโมเดลนำร่องไปสู่การเชื่อมชุมชนและวัดเข้าด้วยกัน โดยหวังใช้การพัฒนาวัดให้เป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพพร้อมอันจะเกื้อประโยชน์ให้กับผู้คนในชุมชนโดยรอบ
วัดบันดาลใจถือเป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกันมาหลายปี เพื่อพัฒนาวัดเป็นต้นแบบที่จะสร้างแรงบันดาลใจ ฟื้นศรัทธา ร่วมพัฒนาเมือง นั่นคือการนำวัดกลับมาเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชน และในปีนี้โครงการดังกล่าวได้จัดโอเพ่น เฮ้าส์ขึ้น โดยหนึ่งในวัดต้นแบบในครั้งนี้คือ “วัดดีดวด” วัดดีดวดเป็นวัดขนาดเล็กในเมืองกรุง ที่รายล้อมด้วยชุมชน และพัฒนาการทำงานร่วมกับชุมชนให้เห็นถึงการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชนและวัดได้อย่างชัดเจน
พระครูศรีสิทธิบัณฑิต ดร. เจ้าอาวาสวัดดีดวดเล่าว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางชุมชนเมือง โดยสภาพของวัดครั้งที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ มีสภาพที่เสื่อมโทรมตามกาลเวลา เรียกว่าแออัดไม่ได้สะอาดตาอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงสถานที่ที่ผู้คนนำรถมาจอดและเป็นจุดทิ้งขยะของคนในชุมชน ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชุมชนและวัดห่างไกลกัน
“เราจะโทษว่าคนไม่เข้าวัดไม่ได้นะ เพราะวัดไม่ตอบโจทย์ คือเราต้องรู้ว่าอะไรจูงใจอยากให้คนในชุมชนเข้าวัด คือวัดต้องสะอาด วัดต้องเข้ามาแล้วสามารถเป็นที่พักผ่อนได้ พออาตมาเห็นบริบทแบบนี้จึงมีความคิดว่าเราน่าจะต้องจัดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้คนที่เข้าวัดมีแหล่งพักผ่อนเสมือนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ได้ใช้สอย ซึ่งอาตมาก็อยากให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางของคนในชุมชน ก็เลยตัดสินใจฟื้นฟูวัดแห่งนี้”
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวัดและประจวบเหมาะกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.) มีโครงการวัดบันดาลใจ จึงเกิดการร่วมมือกันขึ้น เมื่อมีแบบแผนชัดเจนในเวลาต่อมา วัดแห่งนี้จึงสามารถดึงชุมชนให้เข้ามาช่วยพัฒนาวัด และสร้างความสุขให้กับชุมชนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน หรือแม้แต่การสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนและคนในชุมชน ได้ร่วมช่วยกันพัฒนาชุมชนและวัด โดยผู้จัดการโครงการวัดบันดาลใจ คุณปริยาภรณ์ สุขกุล ได้กล่าวเสริมถึงโครงการว่า
“เรามองว่าวัดเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศที่สามารถพัฒนาผู้คน โดยเฉพาะในเรื่องของ กาย ชีวิต จิต เราก็เลยนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ศึกษามายกระดับในเรื่องนี้ ซึ่งเรามองว่ายิ่งเราสร้างวัดต้นแบบได้มาก มันก็จะยิ่งขยายผลไปในวงกว้างได้ ซึ่งในปัจจุบันเรามีโครงการวัดต้นแบบเช่นนี้มากกว่า 50 แห่ง ทั่วประเทศ และวัดแต่ละแห่งก็จะมีโมเดลในการพัฒนาแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทของพื้นที่”
หากเป็นเช่นที่เจ้าของโครงการกล่าว วัดดีดวดแห่งนี้คงเป็นโมเดลที่น่าศึกษาไม่น้อย เพราะดูจากรอยยิ้มผู้คนในชุมชนที่มาร่วมกิจกรรมในงานวันนี้ ช่างต่างไปจากอดีตที่เคยเงียบเหงาเพราะร้างลาผู้คน
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร หรือสำนัก 8 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การทำงานเป็นผู้สนับสนุนทุนในโครงการได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“พื้นที่ของวัดเป็นพื้นที่จิตตปัญญาอยู่แล้ว สสส. เองก็เข้ามาปรับให้เข้ากับบริบทของคนซึ่งปัจจุบันเครียดขึ้น เราก็พยายามใช้ธรรมะและใช้พื้นที่ให้คนได้เข้ามาแล้วรู้สึกสงบใจ บางคนอยู่ในชุมชนแออัดหรือคอนโดไม่ได้มีพื้นที่มาก หากเราทำพื้นที่วัดให้เป็นสถานที่ร่มรื่น เป็นที่ที่มาแล้วสบายใจขึ้นให้ธรรมะเข้ามาเป็นศูนย์กลาง สามารถนำไปใช้ทำอะไรหลายๆอย่างได้ที่ตอบโจทย์สังคมได้มากขึ้น
“ตรงนี้เราก็มาดูในแต่ละบริบทของพื้นที่ เช่นปากท้องคนในชุมชนนั้นแย่ วัดก็ต้องเป็นที่สอนเรื่องสร้างอาชีพ เปิดพื้นที่ให้นำสินค้าในชุมชนมาขาย หรือถ้าเราอยากจะพัฒนาแกนนำรุ่นใหม่ เราก็เอาเด็กมาพัฒนาความเป็นผู้นำ ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน พวกเขาในวันหนึ่งก็จะเติบโตมาเป็นผู้นำชุมชน เป็นนักพัฒนาชุมชน เรียกว่าคุณค่าของวัดก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสังคม มันเหมือนกับอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านเกื้อกูลวัด วัดเกื้อกูลชาวบ้าน มันเป็นพลังที่ส่งกันไปส่งกันมา”
โครงการวัดบันดาลใจ Forum & Exhibition ครั้งที่ 5 “ Open House เปิดบ้าน เปิดวัด เปิดใจ” นอกจากวัดดีดวดแห่งนี้แล้ว ยังคงมีวัดเป็นต้นแบบอีก 2 แห่งที่กำลังจะมีกิจกรรมโอเพ่น เฮ้าส์ ขึ้นในเดือนถัดไปในวันที่ 3 และ 15 พฤศจิกายนนี้นั่นคือวัดอนงคาราม และวัดนางชี หากท่านใดสนใจเข้าชมโครงการและร่วมกิจกรรม สามารถติดตามข่าวสารของตัวโครงการได้ที่เฟสบุ๊คแฟนเพจที่ชื่อ วัดบันดาลใจ (watbundanjai)