3 ปรัชญาการดำเนินชีวิตให้มีความสุข

27/01/2023 Happy Soul Happy Brain 32,886
Share:

ภายหลังจากที่เราต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ทำให้การใช้ชีวิต การทำงาน

หลาย ๆ อย่าง เปลี่ยนแปลงไป บางคนอาจรู้สึกว่าโลกวันนี้อยู่ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอาจเหนื่อยหน่ายกับการปรับตัว บางคนอาจหมดไฟ หมดใจกับการทำสิ่งใหม่ หรือแม้แต่เบื่องานที่ทำ ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือหลายๆ คนก็ไม่มีความสุข ขาดแรงจูงใจ

และขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา เรามักจะได้รับรู้ข้อมูลจากสื่อต่างๆ เกี่ยวกับหลักปรัชญา แนวทางการใช้ชีวิตให้มีความสุขจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งวันนี้เราจะหยิบยกปรัชญาการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ และ เหมาะกับคนที่กำลังหาแนวทางการใช้ชีวิตมาให้ได้ลองศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตดู

 

1. ปรัชญาฮุกกะ

เป็นปรัชญาแนวการให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตให้มีความสุขของชาวเดนมาร์ก “ฮุกกะ”ในภาษานอร์เวย์โบราณมีความหมายว่า “ความเป็นอยู่ที่ดี” และเปรียบเทียบฮุกกะเป็นความ Cozy สบายๆในการใช้ชีวิต ชาวเดนมาร์กหันมาใช้คำว่าฮุกกะกันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน โดยฮุกกะ มีหลักการปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่ 6 ข้อ นั่นคือ

1. สร้างบรรยากาศให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย โดยนำธรรมชาติเข้ามาอยู่แวดล้อม เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ โต๊ะไม้ ถ้วยเซรามิก สิ่งของที่ทำให้เกิดฮุกกะมากกว่าการสัมผัสกับเหล็ก แก้ว หรือพลาสติก

2. มีเครื่องมือในการสร้างความสุนทรียะ เช่น เทียนหอม ช็อกโกแลต ชาสมุนไพร ไดอารี่ หรืออัลบั้มภาพ เพื่อที่คุณจะเปิดกล่องเพื่อค้นพบความสุขในนั้นและทำให้ลืมทุกอย่างที่เผชิญมาในวันนั้น

3. ลงมือทำหัตถกรรม งานฝีมือ เช่น การถักไหมพรม วาดรูป

4. กินอาหารฮุกกะ คือ อาหารที่ได้ร่วมมือทำด้วยกัน โดยเฉพาะอาหารที่พิถีพิถัน ใช้เวลาทำนาน ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้ร่วมกันทำ ทำให้เชื่อมโยงถึงความทรงจำและประสบการณ์ที่ดี เช่น อาหารแบบ slow food อย่างสตูที่เคี่ยวนาน ๆ หรือขนมอบ

5. ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวหรือคนที่คุณรัก ‘ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ’ นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของฮุกกะ

6. รู้สึกดีได้กับเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้น เช่น ออกไปเดินเล่นในวันที่สดใส การจิบเครื่องดื่มถ้วยโปรด การดูหนังหรือฟังเพลงที่ชอบ

 

2. ปรัชญาอิคิไก

เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นที่ทำให้มองเห็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น อิคิไก หมายถึง คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริง มาจากคำว่า อิกิ (iki) ที่แปลว่า การมีชีวิต และ ไก (gai) ที่แปลว่า คุณค่า

หลักการของอิคิไก ikigai คือการตอบคำถาม 4 ข้อพื้นฐาน เพื่อตอบคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน ดังนี้

1. อะไรคือสิ่งที่เรารัก (What you love) คือ สิ่งใดที่ทำแล้วทำให้เกิดความสุข อยากทำสิ่งนั้น เพื่อจะได้พัฒนาศักยภาพในตัวเราให้ดียิ่งขึ้น และยังทำให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การเลือกงานที่เหมาะสมกับตัวเราจริง ๆ และจะทำให้สามารถอยู่ในองค์กรนั้นได้นาน และใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่

2. อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี (What you are good at) คือ สิ่งใดที่เรามีความสามารถทำได้ดีกว่าสิ่งอื่น หรือ Hard skill ทักษะความรู้ความสามารถที่ใช้ในการทำงาน เกิดจากการฝีกฝนจนชำนาญ จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ โดยทักษะที่เรามีความสามารถไม่จำเป็นต้องตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมาโดยตรง อาจเกิดจากการฝึกฝนของตนเอง จนเกิดความชำนาญ ถ้าเราค้นพบว่าเรามีความสามารถในเรื่องใด เราก็จะพบ อิคิไก ikigai ของชีวิตเราง่ายขี้น

3. สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ (What you can be paid for) คือ สิ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้เรา สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

4. สิ่งที่สังคมต้องการ (What the world needs) คือ สิ่งที่ทำแล้วจะเปลี่ยนแปลงสังคมหรือรอบข้างได้

เมื่อนำคำตอบแต่ละข้อไปทำเป็นวงกลมทับซ้อนกัน เพื่อหาความหมายของตัวมันเองในแต่ละอัน นั่นคือ

1. สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่เราทำได้ดี = แรงผลักดัน เช่น เมื่อเรารู้ว่าเราชอบทำงานอะไรและงานอะไรที่เราทำได้ดี ก็จะกลายเป็นแรงผลักดัน ให้งานนั้นสำเร็จ ดี และมีประสิทธิภาพมากขี้น

2. สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่โลกต้องการ = หน้าที่ เช่น เราได้ทำงานที่เรารักและงานนั้นก็ยังมีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน เมื่องานที่เรารักเป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและคนอื่น เราจะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อสร้างความสุขให้กับคนรอบข้าง ถ้าเราสามารถหาสร้างอิคิไก (Ikigai) ข้อนี้ได้ เราก็จะยิ่งสรรสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ยิ่งถ้ามีคนต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งที่เรารักที่จะทำ นอกจากจะได้เป็นผู้ให้แล้ว ยังได้เป็นผู้รับจากสิ่งที่ทำอีกด้วย สิ่งที่ได้รับนั้นก็คือ ความสุข นั่นเอง

3. สิ่งที่โลกต้องการ + สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ = ทักษะในการทำงาน เช่น งานที่ทำนอกจากเป็นงานที่คนส่วนใหญ่ต้องการแล้ว งานนั้นอาจจะสร้างรายได้ให้อย่างมหาศาล นอกจากเป็นรายได้จากงานประจำอาจเป็นรายได้เสริม ถ้าเรามองหาจุดเชื่อมต่อ ระหว่าง 2 ข้อนี้ได้งานที่เป็นที่ต้องการและทักษะที่เกิดรายได้ ก็จะสร้างความภูมิใจให้กับสิ่งที่เราทำแม้แค่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ

4. สิ่งที่เราทำได้ดี + สิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ = อาชีพ เช่น จากการที่เรามีประสบการณ์ทำงานมาหลากหลายที่แล้ว รู้ถึงความสามารถของตัวเอง สามารถนำสิ่งที่มีอยู่นี้มาสร้างรายได้ ทำงานที่ตรงกับความสามารถของเราอย่างแท้จริง จนกลายเป็นอาชีพ

ดังนั้น เมื่อเราเจอ อิคิไก ikigai แล้ว ความสุขในการทำงานก็จะเกิดขี้น ทัศนคติแง่บวกในการทำงานก็จะตามมา แรงผลักดันในการทำงานก็จะเกิด และผลงานก็จะออกมาดี เมื่อผลงานออกมาดี รายได้ที่ดีก็จะตามมา

เราสามารถนำ ทฤษฎีอิคิไก ikigai มาใช้ในการทำงานได้ในทุก ๆ วันที่ตื่นขึ้นมา

 

3. กฎของยานเต้

เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่ชาวสแกนดิเนเวียนยึดถือปฏิบัติกันมาที่มีหลักการที่ว่า “คุณอาจไม่ได้ดี-เก่ง-เหนือไปกว่าผู้อื่น” โดยยานเต้ มีกฎอยู่ 10 ข้อด้วยกัน คือ

1. อย่าคิดว่าตัวเองพิเศษกว่าผู้อื่น

2. อย่าคิดว่าตัวเองเป็นคนดีมากเกินไป

3. อย่าคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าผู้อื่น

4. อย่าคิดว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น

5. อย่าคิดว่าตัวเองมีมากกว่าผู้อื่น

6. อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าผู้อื่น

7. อย่าคิดว่าตัวเองเก่งไปทุกเรื่อง

8. อย่าคิดว่าตัวเองจะได้รับความสนใจจากผู้อื่น

9. อย่าคิดว่าตัวเองจะเที่ยวไปสอนผู้อื่นได้

10. อย่าหัวเราะเยาะผู้อื่น

 

ถึงแม้จะเหมือนว่ามีกฎค่อนข้างเยอะ แต่ชาวสแกนดิเนเวียก็ยึดถือกฎทั้ง 10 ข้อมา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ข้อกฎหมายบังคับ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขานั้นปฏิบัติสืบต่อกันมา เพราะถือว่ากฎของยานเต้จะนำพาความสุขมาให้ชีวิตของพวกเขาเอง

การพัฒนาชีวิตของคนเรานั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เมื่อเรามีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ก็จะทำให้ชีวิตของเราไปในทิศทางที่ถูก คุณค่าของการใช้ชีวิตยังมีอีกหลายข้อที่ตัวเราเองนั้นก็อาจจะยังไม่รู้ ลองหลักการใช้ชีวิตต่างๆไปปรับใช้ในเหมาะกับตัวเองดูกันนะคะ

 

ที่มา

https://www.patourlogy.com/ปรัชญาฮุกกะ-hygge/

https://www.pasamol.com/.../ikigai-japanese-lifestyle...

https://th.hrnote.asia/tips/210730-ikigai/

https://www.mendetails.com/life/law-of-jante-กฎของยานเต้-aug22/