เวทีวิพากษ์ข้อเสนอ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน”

10/04/2024 Happy Body Happy Heart Happy Soul Happy Relax Happy Brain Happy Money Happy Family Happy Society 747
Share:

อึ้ง! บุคลากรในมหา’ลัยไทย มีปัญหาสุขภาพใจ 57.4% สสส. สานพลัง ภาคี หนุน อว. ดันนโยบาย “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ยกระดับสถานศึกษาต้นแบบสู่องค์กรสุขภาวะยั่งยืน 13 แห่ง เล็งขยายผล 84 แห่ง สร้างสุขภาวะบุคลากร-นักศึกษา 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ ภายในปี 70

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมสุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในเวทีวิพากษ์ข้อเสนอ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน” ว่า อว. มุ่งปรับบทบาทของมหาวิทยาลัย ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการสร้างคน องค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งบุคลากรในมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อว. จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้บุคลากร นิสิต นักศึกษา มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในทุกด้าน เกิดการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ และผลักดันการมีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมสร้างสุขภาวะในองค์กรอย่างเป็นระบบ

“ขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ 60 แห่ง ในจำนวนนี้ยกระดับเป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบ สร้างเสริมสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีครบถ้วนตามแนวทางองค์กรสุขภาวะ 13 แห่ง เกิดฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยแห่งความสุขไทยที่ต่อยอดสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ อว. เตรียมดำเนินการนำแนวทางมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน เข้าเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) นำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563–2570 ให้ทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพและพัฒนาสถาบันความรู้ให้เป็นองค์กรสุขภาวะต่อไป” นายเพิ่มสุข กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรสุขภาวะ (Happy workplace) โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสร้างคนเพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. พร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะให้ครอบคลุม 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา สังคม จากผลสำรวจการเฝ้าระวังสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2566 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในกลุ่มนิสิต นักศึกษา 16,585 คน และบุคลากรมหาวิทยาลัย 10,864 คน พบว่า คุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันกับสถานศึกษา และความสมดุลในชีวิต มีผลประเมินอยู่ในระดับดี อยู่ที่ 64.8% ขณะที่ผลสำรวจกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัย พบว่า มิติด้านสุขภาพจิตวิญญาณ มีประเมินอยู่ในระดับดีมาก อยู่ที่ 74% แต่มิติสุขภาพใจกลับได้ผลประเมินอยู่ในระดับปานกลาง อยู่ที่ 57.4% 

“สสส. สนับสนุนให้กระทรวง อว. นำแนวทางมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน กำหนดเป็นนโยบายด้าน อววน. ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.ขยายบทบาทการพัฒนา “สร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุข” 2.พัฒนาทักษะคนในมหาวิทยาลัยให้เป็น “คนเก่ง งานดี มีความสุข ผลิตภาพสูง” 3.สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม “มหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะอย่างยั่งยืน” มุ่งเป้าขยายผลมหาลัยแห่งความสุขจากเดิม 60 แห่ง เพิ่มเป็น 84 แห่ง ในปี 2570 สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับบุคลากรและนักศึกษาเพิ่ม 1.9 ล้านคน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ศ.นพ.วชิร คชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาให้มหาวิทยาลัย เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” เป็นต้นแบบในการพัฒนาคนและองค์กร มุ่งประโยชน์เพื่อชุมชนและสังคมส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาสร้างเสริมคุณภาพชีวิต พฤติกรรมสุขภาพ สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ทักษะทางสังคม และกรอบความคิด รวมถึงความพึงพอใจและความผูกพันองค์กร เพื่อให้บุคลากร นิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการใช้ศักยภาพคนอย่างเต็มที่ ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)