สร้างมหาวิทยาลัยแห่งความสุข สู่องค์กรสุขภาวะยั่งยืน

08/06/2022 Happy8workplace 2,514
Share:

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์


การสร้างสังคมแห่งความสุขในมหาวิทยาลัย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับนักศึกษา เมื่อก้าวเข้าสู่การทำงานตามองค์กรต่างๆ ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข

 

สร้างมหาวิทยาลัยแห่งความสุข สู่องค์กรสุขภาวะยั่งยืน thaihealth

 

คน คือ หัวใจขององค์กร การสร้างคนหรือกระบวนการพัฒนาคนจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ในการนำพาไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน แนวคิดของ "องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace)" จึงเกิดขึ้นตามพันธกิจของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ในสังกัดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับทศวรรษเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อการต่อยอดและขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล  สสส.ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมอบรม "การพัฒนาทักษะนักศึกษาต้นแบบ New-Gen Content Creator Workshop" ภายใต้โครงการ "การสร้างเสริมระบบปัญญานิเวศ: มหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน" ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting การจัดการอบรมในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต้นแบบความสุขผ่านกลไกการสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์ ได้รับความสนใจจาก 5 มหาวิทยาลัยของรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก,  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ทั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เปรียบเสมือนเป็นฐานกำลังการผลิตปัญญาชนเพื่อออกไปพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างเสริม และถ่ายทอดปัญญา ความสามารถ และพฤติกรรมต่างๆ ที่สำคัญสำหรับนักศึกษา การบ่มเพาะดูแลนักศึกษาจึงเปรียบเสมือนการบ่มเพาะต้นแบบความสุข ให้แพร่กระจายสร้างสังคมแห่งความสุขในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษา ก้าวเข้าสู่ภาคการทำงาน ต้นแบบความสุขเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรแห่งความสุขก็จะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สสส. ระบุว่า องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) คือกระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีความสามารถและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง นำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

การจัดการอบรมในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต้นแบบความสุขผ่านกลไกการสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อมัลติมีเดียมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน การสร้างเสริมสุขภาวะจึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนผ่านเครื่องมือที่เข้ายุคเข้าสมัยและเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยหวังว่านักศึกษาทุกคนจะได้รับความรู้ ทักษะ และที่สำคัญ ได้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปใช้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมแห่งความสุขและการมีสุขภาวะที่ดีของนักศึกษาต่อไป

นายอนุชิต คำน้อย เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ "คิ้วต่ำ" ที่มีผู้ติดตามเพจมากกว่า 2.9 ล้านคน ได้ให้ความรู้ เทคนิคการสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์อย่างไรให้น่าสนใจ อาทิ การนำเสนอต้องหาสิ่งที่มีความเป็นตัวตนของตัวเอง การเป็นคนช่างสังเกตทำให้มีสิ่งที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน การคิดไอเดียในเรื่องต่างๆ ต้องพยายามคิดให้ได้อย่างน้อย 3 ไอเดีย แล้วดูว่าไอเดียไหนที่มีมุมมองแตกต่างและน่าสนใจมากที่สุด การเล่าเรื่องให้น่าสนใจต้องเล่าให้เห็นถึงแต่ละด้านที่ตรงกันข้ามกัน การทำคอนเทนต์ที่ดีต้องไม่ควรทำร้ายใคร หรือไม่ควรตัดสินใคร ทั้งนี้ การทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น บุหรี่ ควรจะสื่อสารในเชิงแสดงความห่วงใย หรือทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เนื้อหาไม่หนักเกินไป

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้เรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และประเด็นสุขภาวะที่เกี่ยวข้อง โดยได้นำเสนอข้อมูลปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุการเสียชีวิต จากการตรวจสุขภาพนักศึกษาไทย (อายุ 20-24 ปี) ปี พ.ศ.2562 พบว่าปัจจัยเสี่ยง (Health risks) ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต อับดับ 1 คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองลงมาคือเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต (Causes of deaths) พบว่า อันดับ 1 คือเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น การบาดเจ็บทางท้องถนน รองลงมาคือการทำร้ายร่างกาย เป็นต้น และเมื่อพิจารณาในเรื่องของจำนวนปีที่เสียไปเพราะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (years of life lost) พบว่า สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดปีที่เสียไปเพราะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้แก่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน

นอกจากนี้ คุณหมอทักษพลชี้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาสุรากับเยาวชน พบว่าแนวทางที่ได้ผล ได้แก่ การห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง มาตรการทางภาษีและราคา มาตรการทางภาษีที่สูงเป็นพิเศษเฉพาะเครื่องดื่มสำหรับวัยรุ่น เป็นต้น และในส่วนแนวทางที่แม้ว่าอาจจะยังไม่ค่อยได้ผล แต่ก็ควรดำเนินการต่อ ได้แก่ การให้ความรู้ การรณรงค์สาธารณะ รวมทั้งการบังคับเยาวชนเข้าสู่การบำบัดรักษา เป็นต้น

นายนิราวุฒิ สกุลแก้ว โปรดิวเซอร์และผู้กำกับอิสระ ให้ความรู้เรื่อง 5 กระบวนการคิดสร้างสรรค์เพื่อผลิตสื่อผ่านวิธีการคิดนอกกรอบ โดยในส่วนของการตั้งโจทย์ (Brief) เมื่อเราทราบโจทย์ที่ได้รับแล้ว ต้องมีการค้นหาประเด็นที่เราจะทำการสื่อสารเพื่อไม่ให้มีการสื่อสารที่มีความซ้ำ เช่น เรื่องบุหรี่ จะมีแนวทางตั้งแต่การสื่อสาร ให้คนไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การสร้างบ้านปลอดบุหรี่ การทำเขตปลอดบุหรี่ และวัยรุ่นไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

ในการตอบความต้องการ (Research) ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร ชอบแบบไหน ต้องการอะไร เพื่อจะได้เลือกรูปแบบและเนื้อหาและช่องทางเผยแพร่ถูกกลุ่ม โดยอาจจะมีเทคนิคเพื่อค้นหาไอเดียความต้องการหลายๆ แบบ เพื่อนำมาคัดเลือกต่อไป การสื่อให้เห็นถึงการทำให้ชีวิตดีขึ้น (Solution) เช่น การให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการทำสื่อเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี ร่วมกับการให้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาให้ข้อมูล การทำให้สื่อดูน่าสนใจ (Creativity) ต้องคำนึงตั้งแต่ขนาดภาพ ลักษณะภาพที่จะสื่อ ทั้งแสง สี เสียง การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Approach) ต้องคำนึงถึงช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายเข้าถึง เช่น แต่ละช่วงอายุอาจจะมีช่องทางการเข้าถึงที่แตกต่างกัน รวมทั้งสิ่งที่ต้องการจะให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้

Happy 8 หรือความสุขทั้งแปด โมเดล..องค์กรแห่งความสุข

1. Happy Body (สุขภาพดี) มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและจิตใจ เพราะมีความเชื่อว่าถ้ามนุษย์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ก็จะมีจิตใจที่ดี พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามาได้เป็นอย่างดี

2. Happy Heart (น้ำใจงาม) มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน เนื่องจากมีความว่าเชื่อความสุขที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้

3. Happy Society (สังคมดี) มีความรักสามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงานและพักอาศัย มีสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะเชื่อว่าการที่ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีภายในสังคมหรือชุมชน ย่อมเป็นพื้นฐานที่ดี ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความรัก ความปรองดอง สามัคคีต่อกัน พร้อมร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

4. Happy Relax (ผ่อนคลาย) รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่าการที่คนทำงานหากไม่รู้จักสรรหาการผ่อนคลายให้กับตนเอง จะทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียด อันส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน

5. Happy Brain (หาความรู้) มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆ นำไปสู่การเป็นมืออาชีพและความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงาน เพราะเชื่อว่าถ้าเราทุกคนแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่สม่ำเสมอ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ช่วยให้องค์กรพัฒนาขึ้นด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ

6. Happy Soul (ทางสงบ) มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่า หลักธรรมคำสอนของศาสนา เป็นสิ่งที่จะช่วยการดำเนินชีวิตของทุกคนให้ดำเนินไปในเส้นทางที่ดีได้ ทำให้ทุกคนมีสติ มีสมาธิในการทำงาน สามารถรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ ยึดหลักสนับสนุนให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี และมีความศรัทธาในคุณงามความดีทั้งปวง

7. Happy Money (ปลอดหนี้) มีเงิน รู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยอดออม ประหยัด รู้จักวิธีใช้เงิน ไม่ใช้สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายแต่เท่าที่จำเป็น ยึดหลักคำสอนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

8. Happy Family (ครอบครัวดี) มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ปลูกฝังนิสัยรักครอบครัว เพื่อนำไปเป็นหลักการใช้ชีวิต ให้รู้จักความรัก ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในความดีงาม จึงจะเกิดเป็นคนดี ในสังคม (รักตนเอง รักครอบครัว รักการงาน รักเพื่อน รักในสิ่งที่พอเพียง)